JustMakeWeb.com รับทำเว็บไซต์ รับทำเว็บโรงแรม รับทำเว็บขายของ รับทำเว็บบริษัท เว็บสำเร็จรูป รับทำเว็บร้านค้า ออกแบบเว็บไซต์ ใช้งานได้ง่าย รองรับ SEO โปรโมท GOOGLE ให้ติดอันดับได้อย่างรวดเร็ว , ลงโฆษณาฟรี VPS ราคาถูก
รับทำเว็บไซต์
0

The Best of Ad Schaerlaeckens Volume 2 ตอนที่ 1

2012-12-31 09:35:09 ใน บทความจากหนังสือ » 0 2971 The Best of Ad Schaerlaeckens Volume 2

สวัสดีครับ ในที่สุดก็ได้ฤกษ์เขียนเป็นเรื่องเป็นราวของหนังสือ

The Best of Ad Schaerlaeckens Volume 2


กันซะที  วันที่เขียนวันนี้ก็เป็นวันสิ้นปีพอดี ก็ขอ

" Happy New Year กับเพื่อนๆทุกท่าน
ขอให้มีความสุข มีสุขภาพที่ดี เงินทองไหลมาเทมา
งานการมั่นคง และ ประสบความสำเร็จกันตลอดปีใหม่ครับ "


ก็กลับเข้าเรื่องกันอีกครั้ง หลังจากที่ได้อ่านไปอย่างน้อยก็ 2 รอบได้  เล่มนี้เนื้อหาความมันส์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความมันส์ที่ผมว่าไว้นี้ก็เป็นเนื้อหา ข้อคิด แง่คิดดีๆ ที่ นายแอ๊ด ให้ไว้  ก็เหมือนเดิมคือสุดแล้วแต่ใครชอบ ใครเห็นประเด็น เห็นจุดไหน เป็นสาระของตนเอง ก็นำไปเสริม ไปปรับปรุงที่กรงของตนเองกัน

เล่ม 2 นี้ผมซื้อตอนที่ออกใหม่ๆคือ เดือนมกราคม 2012 ก็มีความหนาประมาณ 240 หน้า และ มี 47 ตอน

ก็ทำความเข้าใจกันก่อนคือสไตล์ก็ยังเหมือนเดิมคือผมอ่านและสรุปให้ท่านได้อ่านกัน บางช่วงบางตอนก็ละเอียดบ้างมากน้อยก็แล้วแต่ว่ามันเกี่ยวกับนกบ้านเราขนาดไหนละครับ  อย่างเช่นบางช่วงก็เกี่ยวกับหน้าหนาวที่เมืองนอกนั้นเขาต้องดูแลนกเป็นพิเศษแต่บ้านเราไม่มีหน้าหนาวแบบนั้น ดังนั้นก็คงไม่เสียเวลาเราไปลงรายละเอียดให้เบื่อกัน
 
ตอนที่ 1 “Setbacks are not always bad luck -  การถอยไปตั้งหลักไม่ใช่เรื่องโชคร้ายเสมอไป”

ชื่อเรื่องนี้เพราะดีก็ทำให้คิดถึงคำคมของเพื่อนซี้ผมที่ชอบพูดว่า

“บางครั้งการถอยอาจมิใช่การย้อมแพ้แต่เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินไปข้างหน้าอย่างก้าวกระโดด”   

หลายๆครั้งคนมักโทษเรื่องของโชคชะตาทั้งๆที่ส่วนใหญ่ไอ้เรื่องที่เป็นปัญหาเหล่านั้นมาจากข้อผิดพลาดของตนเอง  และ เมื่อใดที่คิดสรุปได้ถึงข้อผิดพลาดที่ได้ทำไปนั้นได้ ก็ทำให้เราได้รู้ถึงความจริง และสิ่งที่ถูกที่ควรทำ 

ก็เหมือนอย่างคนที่ขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียหายทั้งคนทั้งรถนั้นก็อย่าไปโทษโชคชะตาอะไรเลยเพราะตัวเองนั้น...เมาแล้วขับ...  

บางคนเลี้ยงนกทั้งวัน หัวค่ำ กลางคืนก็ไปเที่ยว ไปดื่มต่ออยู่เรื่อยก็ไม่แปลกใจที่ภรรยาเดินออกไปจากชีวิตเขา  ....

บางคนปล่อยลูกนกตอนเช้าแล้วหายไปขณะที่ปล่อยนกในช่วงใกล้แข่ง หรือ เป็นช่วงที่มีนกซ้อมซึ่งนกบินอยู่เต็มท้องฟ้า โอกาสหายก็มี...

บางคนเป็นโรคคอเอียงก็เป็นเพราะไม่ยอมฉีดยาป้องกันไว้ก่อน  กลับละเลยหรือยอมเสี่ยงดังนั้นผลที่ได้รับนั้นไม่ต้องโทษใคร...

การเลี้ยงนกในหน้าหนาวนั้นทรมานคนเลี้ยงนกมากเหมือนกัน  ลองนึกดูอากาศสัก 0 ถึง 5องศา กลางวันนะ แล้วตอนเย็นหัวค่ำหน่อยก็ติดลบสัก 5-10 องศา  ผมเคยอยู่และไปเยี่ยมกรงนกที่ยุโรปบ่อยมากในหน้าหนาว สาหัสครับ  ส่วนใหญ่ก็จะไม่เข้าคู่นกกันช่วงนี้  ส่วนคนที่เข้าคู่นั้นส่วนใหญ่ก็หวังผลกับการแข่งขันแบบ Young Bird

หลายๆกรงก็ติดไฟไว้ในกรงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ความอบอุ่นกับนกเพิ่มขึ้น   มันช่วยได้นะ ....ไข่นกช่วงนี้เก็บได้นานถึง 7 วันโดยที่ไม่เสียและยกไปให้นกฟักได้  เขาแนะนำให้เขียนด้วยปากกาเมจิกหมึกถาวรที่เปลือกไข่เพื่อบอกถึงคู่นก และ วันที่  และ ทรายที่จานไข่เป็นเรื่องสำคัญ หลายๆกรงใช้ก้านยาสูบเพราะมันให้ความอบอุ่นได้ดี   ดังนั้นกันไว้ก่อน ข้อมูลไม่เลือนหาย ไข่ไม่บุบเสียหาย คิดว่าบ้านเราก็ใช้ตามนี้ กรงผมใช้ดินสอบางครั้งก็เลือนนะ เวลาเขียนก็ต้องระวัง กดหนักบนเปลือกไข่ไม่ได้ เอาไว้ลองเมจิกแบบกันน้ำเส้นเล็กๆ ที่นายแอ๊ดแนะนำดู

 
Own Fault
นกมันรักกรงของมัน โดยเฉพาะกล่องนกที่มันอยู่ ถ้าเราเลี้ยงเป็นกล่องเรื่องนี้ต้องระวัง ถ้าเราเอานกไปเข้าคู่กล่องอื่นยังไงมันก็ยังจำกล่องเก่ามันได้  และ ถ้าเปิดไว้ละก็เกิดศึกแน่ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการไว้นกในกล่องที่ไม่ใช่ของมัน และ ถ้าจำเป็นละก็ปิดกล่องขังไว้ ก็ทำได้แต่อย่าให้มันมีโอกาสหลุดออกมาได้ มันตีกันเละเทะแน่


อีกเรื่องที่บ้านเราหลายคนมักทำกันก็คือเลี้ยงนกแบบขังกล่อง  ก็ทำนองเดียวกันช่วงแรกที่เปิดกล่องก็มีโอกาสตีกันสูง ยิ่งช่วงแข่งเปิดกล่องก็ระวังกันหน่อยนะครับ ผมเคยโดนมาแล้ว นกมันบางตัวตีกันไม่เลิก บางตัวก็ซ่าส์มาก มั่วช่องชาวบ้านก็เยอะ เจ้าบ้านย่อมไม่ยอมแน่ ก็เป็นที่มาของหน้าแตก ตาเจ็บ อดแข่งก็มี....


ตอนนี้นายแอ๊ดก็ยังเน้นถึงการเข้าคู่นกนั้น มันไม่มีหรอกครับที่จะบอกว่านกตัวผู้นี้ เข้ากับตัวเมียตัวนี้ลูกเก่งตลอด ในโลกแห่งความเป็นจริงกีฬานกแข่งเรามันไม่มีบทสรุปที่ง่ายแบบนี้หรอกครับ  ผมชอบประโยคเด็ดที่ว่า

“ไอ้นกที่เป็นแชมป์นะส่วนใหญ่มันเกิดมาได้เพราะโชคและโอกาส  คู่นกนะมันไม่ได้สร้างนกเก่ง แต่นกเก่งต่างหากที่ทำให้เกิดคู่นก

ก็คงมีบางท่านงงกันเหมือนผมตอนอ่านใหม่ๆ ก็อ่านประโยคนี้หลายรอบก็ร้องอ๋อ  เอาง่ายๆเวลาเราเข้าคู่นกนะเราไม่รู้หรอกว่ามันเก่งหรือไม่ แต่พอมันมีโอกาสได้แข่งได้แสดงฝีปีก สร้างผลงานเด่นๆขึ้นมา มันก็ย้อนไปหาพ่อแม่มันคู่ไหนกันวะ  ผมเองก็เหมือนกัน นกไม่เด่น ผมไม่ค่อยมองรายละเอียดมันเท่าไรนัก แต่ถ้าตัวไหนเก่งๆ ละก็เจาะหารายละเอียดพ่อแม่  ไอ้พวกที่แข่งแล้วไม่ดี ก็ว่าสัก2-3ปีว่าจะเอาอย่างไรกับพ่อแม่มันดี



บางครั้งนกเก่งก็เกิดมาจากความไม่ตั้งใจ นายแอ๊ดบอกว่ามีนกคู่หนึ่งเขาเข้าคู่ทิ้งไว้ก็กะว่าจะแยกออกจากกัน ก็ดันลืมปล่อยไว้จนมีลูกนกเกิดมาตัวหนึ่ง  ไอ้ตัวนี้ละครับโตขึ้นมาชนะที่ 1 สนามใหญ่ในเบลเยี่ยม (นายแอ๊ดเป็นคนฮอลแลนด์ บ้านอยู่ติดพรมแดนเบลเยี่ยม สามารถแข่งนกในคลับเบลเยี่ยมได้ ที่นั่นเขาไม่แบ่งแยก) 

ก็เหมือนกับ Koopman ที่ทั้งชีวิตควานหายอดนกของกรงก็มาเกิดเจ้า Kleine Dirk พ่อมันก็เป็นนกในกรง แม่นกเป็น Golden Lady ที่ประมูลจากงานเลี้ยง De Duif มันก็เลยทำให้พ่อแม่นกคู่นี้ดังขึ้นมา ก็โชคดีไป...


 
Breeding a lot
คุณควรที่จะเพาะนกจำนวนมาก ทั้งๆที่แท้จริงคุณไม่ต้องการนกแข่งมาก หลายๆคนมีผลการแข่งขันที่ไม่ได้เป็นแชมป์เหมือนดั่งที่เคยเป็น ก็เป็นเพราะลูกนกไม่พอ (อย่าลืมนะครับที่เมืองนอกแข่งนกตัวหนึ่งกันหลายปี ซึ่งต่างจากบ้านเราที่แข่งนก young bird นกอ่อนเป็นหลัก)

เดี๋ยวนี้นกนั้นหายง่ายกว่าอดีต... ตายง่ายกว่าอดีต.... และโรคมีมากกว่าอดีต.... อากาศก็ไม่ได้ดีหรือเพี้ยนแบบนี้ เหมือนในอดีต.... ดังนั้นนกต้องมีจำนวนพอควรเพื่อให้ท้ายสุดเหลือพอที่จะแข่งได้เป็นทีมที่ฝันไว้

ผมเองก็บอกเพื่อนหลายคนที่เพาะนกที่กรงน้อยไป บางคนเพาะเหนือ 15ตัว ใต้ 15ตัว เหลือแข่งจริงๆผมว่าไม่มากและอาจจะไม่สนุกตลอดสายก็ได้ ... คนเพาะนก 50-100 ตัว ถามว่าแข่งหมดสายเหลือนกสักกี่ตัวสมัยนี้...

กรงนกต้องระวังอย่าให้อบหรือร้อนเกินไป โรคทางเดินหายใจจะสร้างปัญหาได้ กรงนกต้องให้อากาศถ่ายเทได้ดี

สิ่งทีนายแอ๊ดแนะนำก็คือพยายามหานกพันธุ์ที่ดีๆเข้ากรงแล้วเข้าคู่นกให้โอกาสมัน เข้าให้หลากหลายเพราะโอกาสที่จะเกิดนกเก่งมีมากกว่า 

ผมเองเห็นคนเลี้ยงนกจำนวนมาก คิดแทนนกไปหมด เข้าคู่นกตัวนั้นไม่เข้าตัวนี้ เพราะคิดเอาเองว่าลูกมันไม่น่าที่จะเก่ง ก็ไม่รู้ซื้อมาทำไม 



ผมมีนกตัวใหญ่ตัวหนึ่งที่ให้ลูกเก่ง หลานเก่ง   และ นกตัวใหญ่ตัวหนึ่งของกรงผมไปเป็นพ่อพันธุ์ของกรงน้องคนหนึ่งที่ใช้ชื่อแข่งว่า “นิสา – ธนภัทร” นกตัวนี้เพื่อนๆเขามาเห็นก็บอกว่า นกมันตัวใหญ่บินบ้านเราไม่ได้หรอก ที่ไหนได้มันให้ลูกหลานมหัศจรรย์มาก นกตัวแรกที่เกิดได้ 3ถ้วยและ 1 ในนั้นเป็นถ้วยพระราชทาน ทำเงินให้อีกหลายแสนบาท ปีต่อๆมาก็ได้อีกหลายถ้วย และ ถ้าจำไม่ผิด เร็วๆนี้ ลูกหรือหลานก็กินห่วงสายใต้ไปกว่าครึ่งล้านบาท   ลูกหลานได้ถ้วยกว่า 7 ใบจากนกตัวใหญ่ตัวนี้ละครับ น้องเขามักจะโทรมารายงานผลแข่ง ยิ่งวันไหนกินห่วง ชนะเงินรางวัลสนามใหญ่ละก็โทรมาแจ้งผล แจ้งข่าวดี ....ที่พูดมาก็คือโอกาสที่เขาให้กับนกและมีโชคในการเข้าคู่นกเช่นกันทำให้เกิดนกเก่ง และ นกเก่งก็ย้อนมาหาพ่อแม่ และ คู่เก่งไงครับ

จบตอนที่ 1 ก็คอยติดตามตอนที่ 2 กันนะครับ ว่าการให้อาหารของนายแอ๊ดที่ให้ชื่อตอนว่า Feed or Feeding มีอะไรน่าสนใจบ้าง

 
Copyright © 2024 www.francisloft.com All right reserved.